27 มิถุนายน 2556

วิธีเลือกปลาสวยงามที่จะนำมาเลี้ยง

วิธีเลือกปลาสวยงามที่จะนำมาเลี้ยง / ประเภทของปลาสวยงาม / ลักษณะของปลาสวยงาม และเคล็ดลับวิธีการเคลื่อนย้ายปลา

หลังจากที่เราได้จัดเตรียมตู้ หรือบ่อที่จะนำปลามาปล่อยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนในการหาปลาที่จะเลี้ยงมาลงตู้ปลา โดยควรคำนึงถึง คือ

1.
ประเภทของปลา เนื่องจากปลาแต่ละสายพันธุ์มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์หวงอาณาเขตของตนเอง บางสายพันธุ์ว่ายเร็ว ว่ายช้า ชอบพุ่งชน และบางสายพันธุ์มีพฤติกรรมที่กินปลาด้วยกันเองเป็นอาหาร ดังนั้นการคัดเลือกในส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ซื้อควรสอบถามกับผู้ชายให้แน่ใจว่า ปลาที่ตนเองกำลังจะซื้อมีนิสัยอย่างไร

2. ขนาดของปลา ผู้เลี้ยงควรจะค้นหาข้อมูล หรือสอบถามจากผู้ขายก่อนว่า ปลาที่ตนจะนำมาเลี้ยงนั้น พอโตเต็มที่จะมีขนาดเท่าใด เพราะปลาส่วนใหญ่ที่ผู้ขายนำมาจำหน่ายมักจะอยู่ในช่วงในวัยรุ่นของปลา ซึ่งจะมีโอกาสโตขึ้นได้อีก โดยบางชนิดต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะโตขึ้น แต่บางชนิดใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตู้หรือบ่อปลานั้น ไม่เพียงพอต่อตัวปลาเองได้

ประเภทของปลาสวยงาม และ วิธีสังเกตปลาที่มีลักษณะสมบูรณ์

ปลาที่เลี้ยงกันตามตู้เลี้ยงปลาทั่วไป แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. ปลาที่ชอบรวมกลุ่มอยู่กันเป็นฝูง ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาเทวดา ปลาหางดาบ ปลาม้าลาย เป็นต้น การซื้อปลากลุ่มนี้ ควรซื้อครั้งละหลายๆตัว เพราะจะทำให้เกิดความสมดุลในหมู่ปลา

2. ปลาที่ต้องแยกพวกเลี้ยง ปลาพวกนี้ต้องการตู้เลี้ยงพิเศษต่างหาก เพราะส่วนมากไม่ชอบรวมกลุ่ม ได้แก่ ปลาหมอสี ปลาเสือสุมาตรา ปลาปอมปาดัวร์ลายน้ำเงิน ปลาออสการ์ ปลาหางพิณ เป็นต้น บางชนิดก็เป็นปลาที่ชอบเก็บตัวในเวลากลางวัน ถ้าจะเลี้ยงปลาประเภทนี้ต้องแยกพวกเลี้ยงในตู้ปลาต่างหาก อย่าเลี้ยงรวมกับปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะอาจจะมีนิสัยทำร้ายปลาตัวอื่นๆที่อยู่ร่วมตู้ได้

3. ปลากลุ่มเชื่องช้า ได้แก่กลุ่มปลาทอง ปลาทองหัววุ้น ปลารักเร่ ปลารักเร่ห้าสี และกลุ่มปลาทองต่างๆ โดยปลากลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างเชื่องช้า ควรเลี้ยงเค้าในตู้ต่างหาก ไม่ควรนำปลาสายพันธุ์อื่นๆมาเลี้ยงร่วม เพราะอาจจะเกิดปัญหาในการแย่งอาหารไม่ทัน หรือหนีไม่ทันหากเกิดจากกัดหรือตอด

4. ปลากลุ่มว่ายรวดเร็ว ได้แก่ ปลาคราฟ ปลาสอด และปลาที่มีลักษณะเรียวยาว โดยข้อควรระวังของปลากลุ่มนี้คือ หากเลี้ยงในบ่อต้องระวังเรื่องปลากระโดดออกจากบ่อได้ และควรระวังเรื่องหินประดับในบ่อ เพราะปลาสายพันธุ์เหล่านี้มันจะว่ายน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจำทำให้ชนกับของประดับต่างๆจนบาดเจ็บได้

วิธีสังเกตปลาที่มีลักษณะสมบูรณ์
ปลาสวยงามส่วนใหญ่ถ้าสมบูรณ์ดีและไม่ได้ป่วยอยู่นั้น จะมีครีบหลังตั้งตรงเสมอขณะว่ายน้ำ ซึ่งหากปลาตัวใดขณะว่ายน้ำโดยมีครีบหลังตกแสดงว่าปลากำลังเป็นป่วย และปลาที่สมบูรณ์ดีควรจะมีตัวอิ่มเต็ม ครีบหลังไม่แตกหรือเป็นแผลเปื่อยยุ่ย สีควรเข้ม ถ้าเป็นปลาที่มีลายสีหรือแต้มลายสี แต้มควรจะเด่น มีสีตัดกันชัดเจน ไม่มีลายและแต้มที่พร่ามัว เวลาว่ายน้ำควรจะคล่องแคล่วปราดเปรียว นอกจากนี้ ควรจะสามารถว่ายน้ำในน้ำลึกได้ทุกระดับโดยไม่เกิดอาการพุ่งขึ้นสู่พื้นน้ำอย่างรวดเร็ว หรือจมดิ่งลงสู่กันอ่างในลักษณะที่ไม่ขยับตัว


การเคลื่อนย้ายปลาและขั้นตอนในการปล่อยปลาลงสู่ตู้
โดยปกติแล้ว การเคลื่อนย้ายปลาสวยงามจากร้านที่เราซื้อไปจนถึงบ้าน จะนิยมใส่ถุงพลาสติกแบบใสและจะต้องอัดอากาศให้อยู่เหนือน้ำพอสมควร ถ้าซื้อปลาในฤดูร้อนที่มีอากาศสูงกว่าปรกติ ก่อนที่ปลาจะถึงบ้านน้ำในถุงอาจจะร้อนมากขึ้นเพราะมีปริมาณน้อย ดังนั้นจึงควรนำกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำหุ้มถุงไว้อีก เพื่อป้องกันมิให้อากาศรร้อนภายนอกกระทบถุงพลาสติกและทำให้น้ำร้อนเร็วขึ้นกว่ากว่าปรกติได้ หรือถ้าจะให้ดีควรเอาถุงไว้ในกล่องกระดาษแข็งที่อากาศเข้าไม่ได้ ก็จะช่วยให้ปลาที่เราเคลื่อนย้ายไม่กระทบกระเทือนจากความร้อนได้ และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการตั้งถุงบรรจุปลาไว้ในรถโดยไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ และอย่าตั้งถุงปลาให้โดนแดดโดยเด็ดขาด

เมื่อนำปลาที่ต้องการไปถึงบ้านแล้ว อย่ารีบปล่อยปลาลงตู้ทันที เพราะน้ำในถุงกับน้ำในตู้เลี้ยงปลามักจะมีอุณหภูมิต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้น การปล่อยปลาลงตู้เราจะต้องแน่ใจว่าน้ำในถุงกับน้ำในตู้มีอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกัน วิธีการคือนำเอาถุงปลาลอยแช่น้ำไว้ในตู้ปลาสักครู่ เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำได้ระดับเดียวกันแล้วจึงปล่อยปลาออกจากถุงพลาสติกได้

ขณะปล่อยปลาลงตู้ปลา ให้ค่อย ๆ ทำด้วยอาการสงบที่สุด เพื่อมิให้ปลาตื่นตกใจและถ้าตู้ปลามีหลอดไฟฟ้าก็ควรจะปิดไฟเสียก่อน เหลือไว้เฉพาะแสงสว่างของธรรมชาติเท่านั้น เพื่อปลาจะได้คุ้นกับสภาวะแวดล้อมใหม่ได้ง่ายถ้าตู้ปลาสว่างมากเกินไปปลาอาจจะตกใจ และเมื่อปลาคุ้นกับสภาพแวดล้อมดีแล้วจึงค่อยเปิดไฟ และทางที่ดีควรให้น้ำที่ค้างอยู่ในถุงที่มาพร้อมกับปลาลงในตู้น้อยที่สุด เพราะน้ำนั้นกว่าจะมีถึงบ้านเราก็มักจะมีความสกปรกแล้ว

การนำปลามาปล่อยในตู้ปลาขณะที่มีปลาอื่นอยู่เดิมแล้ว เราควรให้อาหารเพื่อล่อปลาที่อยู่ก่อนไม่ให้ไปสนใจกับปลาใหม่มากนัก ไม่เช่นนั้นปลาใหม่อาจจะตื่นและว่ายหนีไปหาที่ซุกซ่อนตัว ซึ่งเราจะต้องจัดที่กำบังหลบซ่อนไว้ให้ด้วย จนเมื่อปลาใหม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมในตู้ปลาดีพอก็จะเริ่มออกมาหาอาหารเองได้ 


อ้างอิงจากบทความของคุณ ethan @ http://aqua.c1ub.net







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น